loading...
และคราวนี้ ไปกันที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ค้นพบ สิ่งมีชีวิตใหม่ ของโลก รวมทั้ง สัตว์ที่พัฒนาสายพันธุ์-ปรับปรุงพันธุ์ใหม่ ความมหัศจรรย์ของสัตว์เล็กจิ๋ว ตลอดจนคุณสมบัติทางยาขั้นเทพ ทั้งปลาค้อชนิดใหม่ของโลก ปลาน้ำจืดตัวเล็กดัชนีชี้ความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำและผืนป่า // ปลาบึกสยาม ปลาหนังลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ // ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่ ตั๊กแตนพันธุ์ใหม่ของโลก //ชันโรงผึ้งจิ๋วมหัศจรรย์ ผึ้งจิ๋วขยัน สื่อผสมเกสรสร้างเงินล้านให้เกษตรกร และสุดท้าย ไก่กระดูกดำ..อาหารยาอายุวัฒนะ.
ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำมาจัดแสดง ในงานวันเกษตรแห่งชาติ 2559 “คนไทยใจเกษตร”NAF@MJU ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2559
loading...
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้ค้นพบปลาค้อ กล่าวว่า “ร่วม 20 ปี ที่ผมและทีมงานได้ออกปฏิบัติการสำรวจชนิดของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะปลาในลุ่มน้ำภาคเหนือเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นมรดกแก่ประเทศชาติ โดยเก็บรวบรวมตัวอย่างไว้ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาทางน้ำแม่โจ้ โดยเฉพาะจำพวกปลาค้อ ปลาชนิดนี้กินแมลงน้ำและตะไคร่น้ำเป็นอาหาร ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้ต้องอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่สะอาด เช่นบริเวณแหล่งที่เป็นต้นน้ำ หรือลำธารบนภูเขาสูง ปลาค้อจึงเป็นมาตรวัดค่าคุณภาพของสภาพแวดล้อมชนิดหนึ่งและไม่มีการแพร่กระจายพันธุ์ในพื้นที่อื่น นอกจากลุ่มน้ำแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ลุ่มน้ำน่าน จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของประเทศไทย
และเมื่อปี 2555 เราได้พบปลาค้อชนิดใหม่มีลักษณะลายคล้ายเสือ ในลุ่มน้ำแม่แจ่ม ยังไม่เคยพบที่ไหนมาก่อนเลยได้ให้ชื่อเป็นเกียรติมหาวิทยาลัยในโอกาสที่มีอายุครบ 77 ปี ว่า “ปลาค้อลายเสือแม่โจ้” จากนั้นในปี 2556 ได้สำรวจพบปลาค้อชนิดใหม่ที่มีลักษณะโดดเด่น และได้รับพระราชทาน พระอนุญาตจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราช-กุมารี เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ ทรงมีพระกรุณาธิคุณยิ่งแก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้ใช้พระนามเป็นชื่อพันธุ์ปลาค้อพันธุ์ใหม่ ว่า “ปลาค้อเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์” และล่าสุดเมื่อปี 2558 ได้ค้นพบปลาค้อชนิดใหม่อีกชนิดจากลุ่มน้ำน่าน มีลักษณะเด่นมีเกล็ดปกคลุมตลอดทั้งลำตัว และเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมายุ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงขอพระราชทานนามชื่อพันธุ์ปลาค้อที่ค้นพบใหม่นี้ว่า “ปลาค้อสมเด็จพระเทพ” ซึ่งพระองค์ท่านทรงพระราชทานพระราชานุญาต และให้ทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม ทั้งการขยายพันธุ์และการอนุรักษ์ เพื่อจัดทำรายงานกราบบังคมทูลประกอบพระราชดำริต่อไป ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อมหาวิทยาลัยแม่โจ้อย่างหาที่สุดมิได้”
ในงานวันเกษตรแห่งชาติ 2559 ท่านที่มาร่วมงานจะได้ชม ศึกษา เรียนรู้วงจรชีวิต ร่วมอนุรักษ์ปลาตัวเล็กที่มีคุณค่าต่อแหล่งน้ำและผืนป่า ซึ่งปลาค้อที่นำมาจัดแสดงเป็นปลาค้อพันธุ์ใหม่ของโลกที่เพิ่งค้นพบทั้ง 3 ชนิดนี้ มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร ทำไมเราต้องอนุรักษ์ มาหาคำตอบกันได้ในงานวันเกษตรแห่งชาติ 2559
ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เม่งอำพัน อาจารย์/นักวิจัย คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ กล่าวว่า “ปลาบึก เป็นปลาที่ได้รับความนิยมบริโภค มีราคาสูง แต่ปลาบึกในธรรมชาติมีแนวโน้มจะสูญพันธุ์ ปลาบึกสยามแม่โจ้ จึงเป็นทางออกที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่ของผู้บริโภคและเกษตรกร ปลาบึกสยามเป็นปลาลูกผสมรุ่นที่ 2 ที่พัฒนามาจากพ่อปลาลูกผสมที่เกิดจากพ่อปลาบึกจากบ่อเลี้ยงรุ่นที่ 2 กับปลาสวาย ปลาบึกสยามเป็นปลาที่รวมลักษณะที่ดีของปลาบึกและปลาสวายเข้าด้วยกัน คือเป็นปลาที่เจริญเติบโตในการเลี้ยงหนาแน่นได้เช่นในกระชังหรือบ่อดิน มีปริมาณเนื้อแน่นและมาก เนื้อมีสีขาวอมชมพู มีความดกไข่และเจริญพันธุ์ได้เร็วและดี และมีพันธุกรรมเป็นปลาเลี้ยงและมีลักษณะเฉพาะต่างกับปลาบึกและสวาย ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากทั้งในประเทศและต่างประเทศในรูปปลาแล่เนื้อแช่แข็ง มีคุณค่าอาหารสูง มี โอเมก้า 3,6และ9 และแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู ส่งผลดีต่อผู้มีอาชีพการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด เศรษฐ์กิจและสังคมของประเทศ ตลอดจนช่วยรักษาทรัพยากรปลาที่สำคัญในเชิงอนุรักษ์เช่นปลาบึกได้ต่อไป”
loading...
บึกสยามแม่โจ้ เป็นงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จจนมีรางวัลระดับนานาชาติ ได้รางวัลเหรียญเงิน และ รางวัล Special Award งาน 8th International Warsaw Invention Show (IWIS2014) ณ เมืองวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ซึ่งท่านจะได้พบกับปลากบึกตัวเป็นๆ ชมนิทรรศการวิวัฒนาการกว่าจะเป็น ปลาบึกสยามแม่โจ้ พร้อมชิมเมนูปลาบึก อาหารเพื่อสุขภาพหลากหลายเมนู ในงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2559
อาจารย์ ดร. แหลมไทย อาษานอก ผู้นำทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ฯ กล่าวว่า “การค้นพบ “ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่ (Anasedulia maejophrae)” ในครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกของการศึกษาทางอนุกรมวิธานของตั๊กแตนในประเทศไทยอย่างจริงจัง นอกจากนั้นตั๊กแตนสกุลใหม่ของโลกนี้ ณ ปัจจุบันยังพบได้เพียงแค่ในพื้นที่ป่าเต็งรังภายในมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ เท่านั้น และยังพบว่าเป็นสกุลเฉพาะถิ่น (endemic) ของประเทศไทยอีกด้วย จึงควรส่งเสริมให้มีการศึกษาในเชิงลึกต่อไป การค้นพบครั้งนี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าการอนุรักษ์ป่าให้คงอยู่ย่อมสามารถอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้ แม้มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จะมีผืนป่าอนุรักษ์เพียงเล็กน้อยยังสามารถค้นพบตั๊กแตนสกุลใหม่ของโลกได้ ดังนั้นหากช่วยกันรักษาผืนป่าขนาดใหญ่ของชาติให้คงอยู่ ย่อมสามารถรักษาความหลากหลายของสรรพชีวิตได้อย่างมากมายและยั่งยืนต่อไป”
“ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่ ตั๊กแตนสายพันธุ์ใหม่ของโลก” จะจัดแสดงนิทรรศการให้ชมในงานวันเกษตรแห่งชาติ 2559
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฏฐ์พัชร เถียรวรกานต์ คณะผลิตกรรมการเกษตร เจ้าของผลงานวิจัย ให้ข้อมูลว่า “ ชันโรง เป็นผึ้งจิ๋วที่ไม่มีเหล็กใน ใช้เป็นสื่อผสมเกสรที่มีคุณภาพ ขยันออกหากินตอมดอกตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนค่ำ ประสิทธิภาพในการเก็บเกสร 80% มากกว่าผึ้งและแมลงทั่วไป มีหลายขนาด หลายสายพันธุ์ สามารถเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะกับขนาดของดอกที่ต้องการให้ผึ้งชันโรงผสมเกสรได้ โดยสามารถผสมเกสรได้ทั้งพืชไร่ พืชผัก พืชสวน ทำให้ได้รับผลผลิตมากขึ้น สร้างรายได้ต่อไร่ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ผลิตผลโดยตรงของชันโรง เช่น ชันผึ้ง และน้ำผึ้ง ก็มีฤทธิ์ชีวภาพทางยา มีราคาสูงมาก สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆอีกมากมาย ด้วยคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้ จึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมให้มีการเลี้ยงผึ้งชันโรง สามารถจำหน่ายในเชิงการค้าให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับเกษตร และชุมชน”
ท่านใดที่สนใจ อยากเห็น อยากเลี้ยงผึ้งจิ๋วมหัศจรรย์ อยากใช้ผลิตภัณฑ์ดีๆ จากผึ้งจิ๋ว สามารถมาชมได้ในงานเกษตรแห่งชาติ 2559
loading...
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภากร ธาราฉาย หัวหน้าโครงการผลิตไก่ พื้นเมืองประดู่หางดำและไก่กระดูกดำเพื่อส่งเสริมเป็นอาชีพ คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “ไก่กระดูกดำ เป็นไก่ที่มีคุณสมบัติพิเศษ มีสารเมลานิน และสารคาโนซีน ช่วยบำรุง ร่างกาย ป้องกันอัลไซเมอร์ ชะลอความชรา ซึ่งในสูตรตำรับยาจีนโบราณ ใช้ไก่กระดูกดำเป็นอาหารยา บำรุงร่างกาย ถือเป็นยาอายุวัฒนะ เราจึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรได้เลี้ยงไก่พันธุ์นี้เพื่ออยากให้เกษตรกรได้บริโภคไก่ดี แล้วก็ สามารถเลี้ยงเป็นอาชีพได้ เพราะไก่กระดูกดำมีราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาด ปัจจุบันมีราคาตัวละ 1,500 บาท สามารถสร้างรายได้ที่มั่งคงให้กับครอบครัวและชุมชน”
ในช่วงงานวันเกษตรแห่งชาติ’59 จะมีการจัดเสวนาแนวทางการทำธุรกิจไก่กระดูกดำอย่างยั่งยืนเพื่อรองรับตลาดภายในประเทศและ AEC ในวันที่ 3 มีนาคม 2559 ท่านที่สนใจสามารถเข้าร่วมรับฟังการเสวนาได้ หรือท่านที่อยากได้ไก่กระดูกดำไปเลี้ยง อยากซื้อไก่กระดูกดำแบบชำแหละ ขอเชิญมาในงานเกษตรแห่งชาติ 2559
นิทรรศการ มหัศจรรย์สิ่งมีชีวิต ในงานวันเกษตรแห่งชาติ 2559 จึงได้รวบรวมทั้ง สิ่งมีชีวิตเพิ่งค้นพบสายพันธุ์ใหม่ของโลก สิ่งมีชีวิตนามพระราชทานหนึ่งเดียวในโลก สิ่งมีชีวิตตัวเล็กจิ๋วน่าทึ่ง สิ่งมีชีวิตมีคุณสมบัติพิเศษเป็นยาอายุวัฒนะ และอีกหลากหลายเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่ได้จัดแสดงในงานวันเกษตรแห่งชาติ 2559 ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2559
ที่มา http://farm.onzorn.info/2016/07/1500.html?m=1
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น